วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การจัดกระบวนการเรียนรู้ วิชาการวางเป้าหมายและแผนชีวิต

โดย อาจารย์อิทธิเดช วิเชียรรัตน์ ศูนย์เรียนรู้ของชุมชนเครือข่ายมหาลัยชีวิต ทุ่งสง

   ข้าพเจ้าได้มาเป็นผู้จัดการกระบวนการเรียน รู้ของ มหาลัยชีวิต ก่อนที่จะได้ใบอนุญาตจัดตั้งเป็น
สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ได้เข้อบรมก่อนทุกครั้งที่จะดำเนินการ จัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้ที่จะเตรียมตัวเป็นนักศึกษา ของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ตั้งแต่ 20 มิถุนายน 2552 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน ข้าพเจ้า ก็ยังดำเนินการ จัดกระบวนการเรียนรู้ โดยมี นางเพ็ญศรี รัตนพันธ์ เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ ฯ แม้จะมีอุปสรรค ในการได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันล่าช้า ทำให้ไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนตามกำหนดการที่วางเอาไว้ แต่ด้วยความมุ่งมั่นและศรัทธาในแนวทางการเรียนการสอนของมหาลัยชีวิต ทำให้ข้าพเจ้า ยังดำเนินการสอนต่อไป

   ข้าพเจ้าได้ดำเนินการ จักกระบวนการเรียนรู้ วิชา การวางเป้าหมายและแผนชีวิตมาตลอด ในทุกครั้งที่มีการดำเนินการจัด สอนในวิชานี้ แต่ที่ผ่านมาการจัดการสอนไม่ได้จบคอร์ด เหมือนในครั้งนี้ จึงทำให้ ยังไม่เห็นประโยชน์ที่นักศึกษาจะได้รับเท่าที่ควร แต่ในครั้งนี้ นักศึกษาเข้าใจและอาจารย์ก็เข้าใจว่าทำไม “นักศึกษาดีขึ้นระหว่างเรียน”

เนื้อหาสาระของวิชานี้ จะให้นักศึกษา เรียนเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเอง ให้วิเคราะห์ตัวเอง ทำแฟ้มชีวิต และทำแผน และปฏิบัติตามแผน 3 แผน  คือ 1.แผนเวลา 2.แผนสุขภาพ 3.แผนงบประมาณและบัญชีครัวเรือน

       โดยใช้หลักการว่า สอนให้นักศึกษาช่วยตัวเองก่อน ก่อนที่จะช่วยคนอื่น ถ้าช่วยตัวเองได้ย่อมช่วยคนอื่น และช่วยสังคมได้

   ผลจากการ เรียนรู้วิชา การวางเป้าหมายและแผนชีวิต ซึ่งผู้เขียนสรุปมาจาก ความรู้สึกที่นักศึกษา ที่ส่งมาพร้อมรายงาน ของวิชา การวางเป้าหมายและแผนชีวิต

จากการที่ผู้ที่เตรียมตัวเป็นนักศึกษาได้เข้าฝึกอบรม วิชาวางเป้าหมายและแผนชีวิต ทำให้นักศึกษา ได้เข้าใจเกี่ยวกับการวางแผนชีวิต ที่แบ่งเป็น 3 ด้าน ของแต่ละคน ทำให้นักศึกษาที่เข้าอบรม สามารถจัดการ เวลา จัดการสุขภาพ และจัดการวบประมาณครอบครัวได้ดี มีความเป็นตัวของตัวเอง สามารถกำหนดตัวเองได้ ไม่ปล่อยตามกระแสร์

สรุปการจัดทำแผนและปฏิบัติตามแผน

1. ของนางเพชรรุ่ง เม่งเอียด เจ้าหน้าที่สหกรณ์การเกษตร ตำบลวังหิน อำเภอบางขัน นครศรีธรรมราช ผู้เตรียมตัวเป็นนักศึกษา มหาลัยชีวิตทุ่งสง
1.1 แผนเวลา และการปฏิบัติตามแผน
“หลังจากบันทึกการใช้เวลาและทำกิจกรรมเดินตามเวลาที่เรากำหนดไว้ รู้สึกว่าข้าพเจ้ามีเวลามากขึ้น มีอิสระในการทำงานแต่ละวันมีความสุขกับการทำงานและสนุกกับการใช้ชีวิตในแต่ละวันโดยไม่รู้สึกเบื่อ สุดท้ายข้าพเจ้าคิดว่าหากข้าพเจ้ารู้จักจัดการกับเวลา ชีวิตข้าพเจ้าก็จะมีความสุข ข้าพเจ้าสามารถใช้ชีวิตแบบมีระเบียบมีแบบแผนมากยิ่งขึ้น
1.2 แผนงบประมาณ และการปฏิบัติตามแผน
“ผลสรุปที่ได้จากการทำแผนงบประมาณประจำปีและบัญชีครัวเรือนก็คือ การใช้จ่ายโดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนแน่นอน ก็ไม่ต่างจากการเดินทางโดยไร้ทิศทาง ดังนั้นการทำแผนงบประมาณประจำปีและบัญชีครัวเรือนเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานจะสามารถควบคุมให้การทำงานให้อยู่ภายในกรอบของแผน และภายใต้กฎเหล็กที่ข้าพเจ้าวางไว้ สำหรับการเงินออม ดังนั้นเมื่อมีแผนหรือเป้าหมายที่ชัดเจนก็สามารถตอบสนองความต้องการให้ของตัวเองให้บรรลุผลสำเร็จจนผลลัพธ์เป็นที่น่าพึงพอใจเพื่อมุ่งไปสู่ความสำเร็จข้างหน้าได้”

1.3 แผนสุขภาพ และการปฏิบัติตามแผน
สรุปการปฏิบัติของข้าพเจ้าเน้นเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของข้าพเจ้าเองในด้านการกินอาหาร การออกกำลังกาย และการพัฒนาจิตใจ เพื่อจะให้บรรลุวัตถุปะสงค์ตามแผนที่ข้าพเจ้า
ได้วางไว้ ปัจจุบันข้าพเจ้า น้ำหนักตัว 66 กิโลกรัม รอบเอว 87 นิ้ว ค่าดัชนีมวยกาย 26.2 อาการปวดเข่าและปวดหลังค่อยหายไป ข้าพเจ้าได้ข้อสรุปว่าไม่ยากเลยที่จะเริ่มใส่ใจสุขภาพตัวเองและคนใกล้ตัวที่สอดคล้องกับแนวทางธรรมชาติบำบัด โดยเน้นความสัมพันธ์ของสุขภาพกายและสุขภาพใจ ซึ่งยึดหลักการเดียวกับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม

2.ผลสรุปการปฏิบัติตามแผน นางนงลักษณะ ชูศรี สมาชิก อบต.วังหิน ผู้เตรียมตัวเป็นนักศึกษา
สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน

2.1.ผลจากการปฏิบัติตาม แผนการจัดการเวลา  สรุปได้ว่า

   จากแผนการจัดการเวลาที่วางไว้ ตั้งแต่วันที่ 9-17 มกราคม 2554 แสดงให้เห็นถึงการกำหนดการใช้เวลาอย่างเป็นระบบ

ผลการวิเคราะห์บทบาทตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเริ่มกับตัวเราเอง มีเวลาอ่านหนังสือ ทำงานบ้านและกิจกรรมครอบครัว ตลอดถึงการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

การปฏิบัติตามเป้าหมายที่วางไว้ในแต่ละบทบาทของแต่ละสัปดาห์ได้ แต่บางครั้งก็ไม่สามารถปฏิบัติตามแผนได้ เนื่องจากตอนเย็นต้องทำงานบ้านและบางครั้งก็ต้องออกไปทำงานนอกบ้านกลับค่ำ จนทำให้แผนงานบางอย่างถูกเลื่อนออกไป เช่นจากเดิมตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะออกกำลังกายให้ได้มากกว่า 3 วัน เป็น 4 – 5 วัน ก็ไม่สามารถทำได้ จึงทำให้ยังไม่ประสบความสำเร็จ

จากการเรียนแผนการจัดการเวลานี้ทำให้ชีวิตของฉันซึ่งมีหลายบทบาท เกิดความสมดุลมากขึ้น เช่น เรื่องสำคัญเร่งด่วน 33% สำคัญไม่เร่งด่วน 36% ไม่สำคัญเร่งด่วน 15% ไม่สำคัญไม่เร่งด่วน 16% และต่อไปจะพยายามบริหารเวลาให้เหมาะสมมากกว่านี้ หากสามารถบริหารจัดการชีวิตเราได้ แม้สังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งความรู้ภูมิปัญญาอย่างเดียวไม่สามารถใช้ได้เสมอไป จึงจำเป็นต้องผสมผสานกับความรู้ใหม่และความคิดสร้างสรรค์ หากมีการบริหารจัดการเวลาหรือมีการวางแผนก็จะทำให้ทุกอย่างมีความเป็นระเบียบและมีกฎเกณฑ์ และทำให้ชีวิตมีความสุขมากยิ่งขึ้น

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการใช้ตารางวางแผนประจำสัปดาห์ ฉันคิดว่าจะปรับเปลี่ยนแผนบริหารการจัดการเวลาใหม่ โดยจะลดเวลาในเรื่องไม่สำคัญไม่เร่งด่วนลงอีกและให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้เวลาให้มากขึ้นอีกในสัปดาห์ต่อไป

2.2.ผลการปฏิบัติตามแผนสุขภาพ

     เป้าหมายเรื่องแผนสุขภาพ คือต้องการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ซึ่งแผนนี้ตรงกับเป้าหมายชีวิตของฉัน เนื่องจากฉันเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตและโรคเบาหวาน เนื่องจากพันธุกรรมของพ่อและแม่ อีกทั้งอายุของฉันก็ย่างเข้าสู่วัยที่มีความเสี่ยงกับโรคเหล่านี้พอสมควร

แนวคิดที่จะทำให้เป้าหมายนี้ประสบผลสำเร็จ คือกินปลาเป็นประจำและกินผักเป็นยา โดยยึดแนวคิดที่ว่า รู้กิน รู้โรค กินถูก กินดี กินเหมาะสม เพราะการกินอาหารที่ดีและเหมาะสมกับวัยและร่างกายนั้น มีส่วนในการช่วยป้องกันและรักษาโรคได้ แต่ในทางกลับกัน หากกินอาหารที่ไม่เหมาะสมหรืออาหารที่เลี่ยงต่อการเกิดโรค ก็อาจมีผลเสียต่อสุขภาพได้

การออกกำลังกายก็เป็นส่วนหนึ่งในแผนสุภาพ โดยที่ฉันนั้นออกกำลังกายด้วยการวิ่งเหยาะๆ วันละ 30 นาที ซึ่งการออกกำลังกายนั้น สามารถช่วยให้ปรับระบบกายใจสู่สุขภาวะที่สมดุล เมื่อร่างกายมีความสมดุลก็ก่อให้เกิดความเป็นปกติสุขและยั่งยืน

สำหรับปัญหาและอุปสรรคที่พบ คือต้องไปงานสังคมในตอนเย็น ซึ่งเป็นเวลาออกกำลังกาย อย่างไรก็ตามฉันจะพยายามปฏิบัติให้ได้ตามแผนที่วางไว้ และคิดว่าจะดูแลสุขภาพและพัฒนาตัวเองในทุกๆด้าน ซึ่งจะพัฒนาแบบบูรณาการ (องค์รวม) เพราะหากสติปัญญาดี ฐานะมั่นคง แต่สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง ก็ถือว่าชีวิตประสบความล้มเหลว ฉันจึงตั้งใจไว้ว่าจะดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงและปราศจากโรคตลอดไป

2.3.ผลการปฏิบัติ แผนงบประมาณและบัญชีครัวเรือน


ก่อนที่จะมาเรียนมหาวิทยาลัยชีวิต ฉันไม่เคยทำแผนงบประมาณหรือแผนการเงินเลย จึงทำให้ไม่ทราบเลยว่าในครอบครัวมีรายรับรายจ่ายเท่าไหร่ เมื่อมีเงิน อยากซื้ออยากได้อะไรก็ซื้อตามความต้องการของตน โดยไม่ได้คำนึงถึงความจำเป็นแม้แต่น้อย จึงทำให้ครอบครัวไม่มีเงินออม แต่เมื่อเริ่มทำบัญชีครัวเรือน ก็ทราบว่าในครอบครัวมีรายรับรายจ่ายเท่าไหร่บ้าง แต่ก็ยังไม่มีเงินออม จนกระทั่งได้มาเรียนวิชาวางเป้าหมายชีวิต เรื่องแผนงบประมาณและบัญชีครัวเรือน และได้กำหนดเป้าหมายว่าจะลดรายจ่ายลง และเริ่มออมเงิน เพื่อให้ครอบครัวมีเงินเก็บและมีความมั่นคงทางการเงินในอนาคต

ผลจากการทำแผนงบประมาณการเงินทั้งรายเดือนและรายปี ได้ตั้งเป้าหมายการออมไว้เดือนละ 2,000 บาท หลังจากนั้นก็หมั่นทบทวนและปรับปรุงแผนงบประมาณเป็นระยะๆ โดยดูจากบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อดูว่ารายรับกับรายจ่ายมีความสมดุลกันหรือไม่ ซึ่งเมื่อทราบดังนั้นแล้ว ก็ต้องปรับเปลี่ยนแผนงบประมาณเพื่อจะลดรายจ่ายลง และจะได้มีเงินออมเดือนละ 2,000 บาท ตามเป้าหมายที่วางไว้

มาถึงวันนี้ เวลาได้ผ่านไป 20 เดือน ครอบครัวของฉันมีเงินออม 40,000 บาท ทำให้มีความรู้สึกว่าครอบครัวได้รับประโยชน์จากการทำแผนงบประมาณและบัญชีครัวเรือน และที่สำคัญที่สุดคือฉันได้เรียนรู้สิ่งใหม่และได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างคุ้มค่าที่สุด

 ข้าพเจ้านำความคิดเห็น ของนักศึกษา มาเป็นตัวอย่าง จำนวน 2 ท่าน
     แต่จากการที่มีการนำเสนอด้วยวาจาทำให้นักศึกษา ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน และทำให้นักศึกษารู้จักกันมากยิ่งขึ้น เห็นอกเห็นใจกัน มีผลดีในการร่วมงานกันในอนาคต  และสรุปได้ว่า การเรียนมหาลัยชีวิต ทำให้นักศึกษาดีขึ้นระหว่างเรียนด้วยการจัดการ ตัวเอง  เกี่ยวกับ เวลา   สุขภาพ และงบประมาณ ของตัวเอง สามารถจัดการตัวเองและช่วยเหลือตัวเองได้

อ.อิทธิเดช   วิเชียรรัตน์

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ดีครับ ผมก็ พยายามทำอยู่ พยามยาม วางเป้าหมาย และ จัดระบบ แต่ผมคงทำเพียงคร่าวๆ ไม่เสียเวลากับการมานั้งคิด บันทึก ติดตามผลมากเกินไป